วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กุศลกรรมบถ ๑๐ การ

ตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ การปฏิบัติประการ
๑.      เว้นจากการฆ่าสัตว์  คือไม่ฆ่าสัตว์  นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่น ๆ
       เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนแก้ปัญหาโดยสันติวิธี  ไม่ใช่วิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมองและตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไป เป็นการแก้ปัญหาซึ่งจะสร้างปัญหาอื่น ๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น  ต้องคอยวาดระแวงว่าญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบ
๒.     เว้นจากการลักทรัพย์  คือไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต  เช่น
·         ลัก               ขโมยเอาลับหลัง
·         ฉก               ชิงเอาซึ่งหน้า
·         กรรโชก         ขู่เอา
·         ปล้น              รวมหัวกันแย่งเอา
·         ตู่                  เถียงเอา
·         ฉ้อ                โกงเอา
·         หลอก            ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วได้ทรัพย์
·         ลวง               เบี่ยงบ่ายลวงเขา
·         ปลอม            ทำของที่ไม่จริง
·         ตระบัด           ปฏิเสธ
·         เบียดบัง          ซุกซ่อนเอาบางส่วน
·         สับเปลี่ยน        แอบเปลี่ยนของ
·         ลักลอบ           แอบนำเข้าหรือออก
·         ยักยอก           เบียดบังอาของในหน้าที่
       เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต  ซึ่งทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่มไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
๓.     เว้นจากการประพฤติผิดในกาม  คือไม่กระทำผิดในทางเพศ  ไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด  เช่น การเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร
      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนมีใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
๔.     เว้นจากการพูดเท็จ  คือต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง  ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ  รวม ๗ วิธีด้วยกัน  คือ
·         พูดปด              โกหกซึ่ง ๆ หน้า
·         ทนสาบาน         ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
·         ทำเล่ห์กระเท่ห์   ทำทีอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของตนเกินเหตุ
·         มารยา              เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก
·         ทำเลศ              ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
·         เสริมความ         เรื่องนิดเดียวทำให้เป็นเรื่องใหญ่
·         อำความ            เรื่องใหญ่ปิดปังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย
การเว้นจากการพูดเท็จต่าง ๆ เหล่านี้  หมายถึง
Ø      ไม่ยอมพูดคำเท็จในเหตุแห่งตน      กลัวภัยจะมาถึงจึงโกหก
Ø      ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น   รักเขาอยากให้เขาได้ประโยชน์โกหก หรือเพราะเกลียดเขา  อยากให้เขาเสียประโยชน์จึงโกหก
Ø      ไม่ยอมพูดเท็จเพราะเห็นแก่อามิสสินบน เช่น  อยากได้ทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ จึงโกหก
๕.     เว้นจากการพูดส่อเสียด  คือไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้  ด้วยเจตนายุแย่ให้เขาแตกกัน  ควรกล่าวแต่ถ้อยคำอันแสดงคุณค่าของความสามัคคี
      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ  ไม่เป็นบ่างช่างยุ  ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี
๖.      เว้นจากการพูดคำหยาบ  คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ ครูดหู และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ  ได้แก่
·         คำด่า               พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ
·         คำประชด          พูดกระแทกแดกดัน
·         คำกระทบ          พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด
·         คำแดกดัน         พูดกระแทกกระทั้น
·         คำสบถ             พูดแช่งชักหักกระดูก
·         คำหยาบโลน      พูดคำที่สังคมรังเกียจ
·         คำอาฆาต          พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย
       เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน  ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
๗.     เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  คือไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อย ๆ สักแต่ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ควรฝังไว้ในใจ  มีหลักที่มาอ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์ 
  เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
๘.     ไม่โลภอยากได้ของเขา  คือไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่น  ในทางทุจริต
      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่น  มีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
๙.      ไม่พยาบาทปองร้ายเขา  คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีใจเบิกบาน แจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสจริต
      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้  ต้องการให้คนเรารู้จักให้อภัยทาน  ไม่คิดทำลาย ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้วเกิดความคิดสร้างสรรค์
๑๐.  ไม่เห็นผิดจากครองธรรม  คือไม่คิดแย้งกับหลักธรรม  ได้แก่ มีความเห็นที่เป็น  สัมมาทิฏฐิ ๘ ประการ  คือ
     ๑)  เห็นว่าการให้ทานดีจริง  ควรทำ
     ๒)  เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง  ควรทำ
     ๓)  เห็นว่าต้อนรับแขกดีจริง  ควรทำ
     ๔)  เห็นว่ากฎแห่งกรรมมีจริง
     ๕)  เห็นว่าโลกนี้โลกหน้ามีจริง
     ๖)  เห็นว่าบิดามารดามีพระคุณต่อเราจริง
     ๗)  เห็นว่านรกสวรรค์มีจริง
     ๘)  เห็นว่าสมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง
      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นใจดี  มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูก มีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้อง ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่นถูกต้องตามไปด้วย

        คุณธรรมทั้ง  ๑๐  ประการ  คนทุกคนจำต้องฝึกให้มีในตน  โดยเฉพาะผู้นำ  ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม  จึงต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี

“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุคคลใด หวังความสุข                                               หวังความเป็นใหญ่ หวังความก้าวหน้า  ต้องประพฤติธรรม”